|
ในโลกของธุรกิจ หรือ กิจการลักษณะต่าง ๆ ย่อมมีลักษณะพื้นฐานที่แตกต่างกัน ในขณะที่ผู้ประกอบการจะต้องบริหาร และ พัฒนาองค์กรอย่างเต็มที่ เพื่อความสำเร็จ การเติบโต และ ผลกำไรแก่ผู้ประกอบการ/ ผู้ถือหุ้น แน่นอนว่าพนักงาน หรือ มนุษย์เงินเดือนจะแตกต่างออกไป เพราะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน และ สวัสดิการเฉพาะตอนทำงานนั้น ๆ เท่านั้น ดังนั้นมนุษย์เงินเดือนอาจมีความเป็นไปได้ที่จะหาโอกาสในการเติบโต ทั้งเงินเดือน หรือ สวัสดิการที่จะได้จากการย้ายที่ทำงานใหม่
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนงาน ก็มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาเป็นขั้นตอน ดังนี้
ขั้น 1 พิจารณาสาเหตุในการต้องการเปลี่ยนงาน
จะต้องพิจารณาประเด็นสำคัญของความคิดที่จะเปลี่ยนงาน ว่ามาจากสาเหตุใด ได้แก่ เจ้าของกิจการ หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง นโยบายองค์กร การสื่อสารในองค์กร ระบบการทำงาน เครื่องมือเครื่องจักร เทคโนโลยีในการทำงาน ความเหมาะสมของสถานที่/ที่ตั้ง ผลตอบแทนทั้งที่เป็นรูปเงิน และ ไม่เป็นรูปเงิน วัฒนธรรมองค์กร ความตึงเครียดในการทำงาน ทิศทางอนาคตการเติบโตของตนเองในองค์กร เป็นต้น ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นสาเหตุ และ มีน้ำหนักเพียงพอที่พิจารณาแล้วด้วย "เหตุผล" ไม่ใช่ "อารมณ์" (Reason or Emotion)
ขั้นที่ 2 ความพร้อมของตนเองในการเปลี่ยนงาน
ประเด็นพิจารณา ช่วงวัย ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และ สามารถพิจารณาสรุป จุดเด่น (Pros) จุดด้อย (Cons) เพื่อประเมินค่าที่เป็นจริงของตน ว่าพร้อมในระดับใด และ พร้อมในการไปสู่ตำแหน่งเดิม ใกล้เคียง หรือ ระดับที่สูงขึ้นได้แค่ไหนในองค์กรอื่นๆ และ การเปลี่ยนงานจากที่เดิม ต้องพิจารณามุมกลับเช่นกัน ว่าทุก ๆ องค์ประกอบจะเปลี่ยนไปเมื่อไปทำงานแห่งใหม่ บางองค์ประกอบอาจดีขึ้น และ ในทางกลับกันบางองค์ประกอบอาจแย่ลงก็ได้ เพราะไม่มีที่ใดดีที่สุด หรือ ดีทุกเรื่องได้
ขั้นที่ 3 การพิจารณาทางเลือกองค์กรใหม่
การหาองค์กรใหม่ ควรมีความพยายามในการหาองค์กรที่น่าสนใจหลายๆที่ ที่เปิดรับตรงกับเรา ได้แก่
1) คุณสมบัติของตำแหน่ง (Job Specifications) หมายถึง ช่วงอายุ เพศ ระดับการศึกษา ประสบการณ์ ทักษะ/ ความสามารถเฉพาะ บุคลิกภาพ และ องคค์ประกอบในการทำงานนั้น
2) รายละเอียดของงาน (Job Description) ได้แก่ ตำแหน่ง หน้าที่ระดับความรับผิดชอบ จำนวนทีมงาน (หัวหน้า/ ลูกน้อง) เป้าหมายทีม/ องค์กร คำบรรยายงานที่ต้องดำเนินการ การประเมินผล (ส่วนตน/ ทีม)
3) ผลตอบแทน (Payoff) ได้แก่ เงินเดือน คอมมิชชั่น สวัสดิการ โบนัส ที่รวมเป็นรายเดือน/ รายปี
ทั้งนี้การหาทางเลือกสถานที่ทำงาน อาจมีพิจารณาทั้งองค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมที่ทำอยู่ หรือ หาความท้าทาย/ แปลกใหม่ ในองค์กรอุตสาหกรรมอื่น (แต่ก็อาจมีความต่างกับประสบการณ์ที่เรามีอยู่เดิม)
นอกจากนี้ ยังต้องหาข้อมูลจากแหล่งบุคคล/ การอ้างอิง ขององค์กรเหล่านั้น ตั้งแต่ เงินเดือน/ ผลตอบแทน การเติบโตขององค์กร วัฒนธรรมองค์กร และ องค์ประกอบต่างๆที่พิจารณาแล้วมีแนวโน้มเป็นบวกมากกว่าองค์กรที่อยู่เดิม
ขั้นที่ 4 การเตรียมตัวในการสอบ/ สัมภาษณ์
องค์กรต่างๆที่เปิดรับบุคลากรใหม่ อาจมีการสอบข้อเขียน และ / หรือ สัมภาษณ์ ซึ่งจะต้องเตรียมตัวในการสอบ/ สัมภาษณ์ ดังนี้
- ทบทวนความรู้/ ประสบการณ์ของตนเอง ที่มีจุดเด่น การมีส่วนร่วม ความสำเร็จ ที่เกี่ยวกับการสอบ/ สัมภาษณ์
- การเตรียมตัวเรื่องบุคลิกภาพ ตั้งแต่การแต่งกาย การเดิน ยืน นั่ง การมีสายตาที่มุ่งมั่น สบตาขณะสัมภาษณ์ และ มีน้ำเสียง ที่ชัดเจน และ เลือกคำพูดที่เหมาะสม
- การเตรียมเอกสาร/ หลักฐาน ที่นำเสนอเพื่อการประกอบการสอบ/ สัมภาษณ์ ที่มีความเป็นมืออาชีพ
ขั้นที่ 5 การเข้าทำงานที่ใหม่
เมื่อได้รับการเข้าบรรจุในการทำงานองค์กรใหม่ (ซึ่งเป็นไปตามความพึงพอใจ) สิ่งที่ต้องทำทันที คือ การเรียนรู้งานที่ต้องรับผิดชอบ การทำความรู้จัก และ เข้าใจงานระหว่างกันกับหัวหน้า/ ลูกน้อง การวางตนให้มีภาพของความเป็นมืออาชีพ ให้ความสำคัญกับงานมากกว่าเรื่องนอกงาน และ สร้างคุณค่าตนเองในการพร้อมการเติบโตก้าวหน้า และ พัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น หากมนุษย์เงินเดือนที่คิดจะเปลี่ยนงานใหม่ ควรมั่นใจก่อนว่าถามตนเองว่า สาเหตุใด เป็นสาเหตุใหญ่มีน้ำหนักเพียงพอแล้ว หรือ ไม่ เราพิจารณาความพร้อมตนเองในการเปลี่ยนงาน หรือ ยัง เรามีแนวทางในการพิจารณาองค์กรใหม่อย่างไร และ มีมโนภาพ และ วางแผนในการสัมภาษณ์กับทำงานที่อื่นแล้ว หรือ ยัง
ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
30 มีนาคม 2565
|